1. แรงงานต่างชาติที่พำนักในไต้หวันเกิน 183 วันใน 1 ปีภาษี (มกราคม – ธันวาคม) หากรายได้รวมของแรงงานต่างชาติในเดือนนั้น ๆ ไม่เกิน 34,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน ไม่ต้องเสียภาษี หรือถ้ามีรายได้ต่อไป ไม่เกิน 408,000 เหรียญไต้หวันต่อปี (ค่าลดหย่อน)
2. ส่วนแรงงานต่างชาติที่พำนักในไต้หวันไม่ครบปีละ 183 วัน จะเสียภาษีอัตราร้อยละ 6 เมื่อมีรายได้ไม่เกิน 36,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน หากมีรายได้เกิน 36,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน จะเสียภาษีอัตราร้อยละ 18
ทั้งนี้ ในแต่ละเดือนค่าจ้างทำงานล่วงเวลาหรือค่าโอทีจะได้รับการยกเว้นภาษี 46 ชั่วโมง ค่าโอทีส่วนที่เกินจาก 46 ชั่วโมง จึงจะนำไปร่วมกับเงินเดือนพื้นฐาน เบี้ยเลี้ยงหรือรายได้ที่นายจ้างจ่ายให้เป็นประจำเพื่อการคำนวณภาษี
ตัวอย่างเช่น มีรายได้จากการทำงานเฉพาะเงินเดือน เดือนละ 17,880 เหรียญไต้หวัน และทำงานอยู่ตลอดปีภาษี คือ 12 เดือน จะมีรายได้ทั้งหมดเป็นเงิน 17,880 X 12 = 214,560 เหรียญไต้หวัน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายที่กรมสรรพากรไต้หวันให้นำมาหักออกได้ 262,000 เหรียญไต้หวัน จึงไม่มีเงินได้สุทธิต้องเสียภาษี ดังนั้น หากนายจ้างหักค่าจ้างไว้เป็นค่าภาษีรายได้ก็จะต้องคืนให้ทั้งหมด
ในความเป็นจริงแรงงานไทยส่วนใหญ่ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำงานล่วงเวลา จึงทำให้มีรายได้เกินกว่า 408,000 เหรียญไต้หวัน รายได้ส่วนที่เกิน คือ รายได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี
4. การจะทราบว่ามีเงินคืนภาษีหรือไม่ นอกจากจะต้องรู้และเข้าใจการคำนวณภาษีตามที่แจ้งข้างต้นแล้ว ตนเองจะต้องเก็บข้อมูลรายได้ที่ได้รับในแต่ละปีภาษีไว้เพื่อรวมดูว่าเป็นเงินทั้งหมดเท่าไหร่ (รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ) แล้วนำมาคำนวณว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ตามที่อธิบายแล้วข้างต้น และเก็บข้อมูลเงินภาษีที่นายจ้างหักจากค่าจ้างไว้ทุกเดือนเพื่อรวมดูว่าเป็นเงินเท่าไหร่ ท่านก็จะทราบว่านายจ้างต้องคืนภาษีให้ท่านหรือไม่ และถ้ามีเงินคืนต้องคืนเป็นเงินเท่าไหร่
5. สรรพากรกำหนดให้นายจ้างยื่นเรื่องเสียภาษีในเดือนพฤษภาคม และทยอยคืนเงินภาษีตั้งแต่เดือนสิงหาคม ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม ของทุกปี ทั้งนี้ แต่ละโรงงานจะได้รับเงินภาษีคืนไม่พร้อมกัน
หากล่วงเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้วนายจ้างยังไม่คืนเงินภาษีให้ คุณต้องติดตามสอบถามจากนายจ้างหรือให้ล่ามช่วยติดตามสอบถามให้ หากยังไม่ได้ผลควรร้องขอให้สำนักงานแรงงานไทยช่วยติดตาม การติดตามขอเงินคืนภาษีไม่ควรทิ้งเรื่องให้นานเกินกว่า 2 ปี เพราะอาจมีอุปสรรคเกี่ยวกับการค้นหาหลักฐานต่าง ๆ
6. หากท่านทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยงานบ้านหรือผู้อนุบาลในครอบครัว เนื่องจากนายจ้างเป็นบุคคลธรรมดาไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากลูกจ้าง ท่านจึงไม่ต้องเสียภาษีล่วงหน้าเป็นรายเดือน โดยผ่านนายจ้างแต่ยังต้องชำระภาษีตามประมวลรัษฎากร นั่นคือ ยื่นแบบแสดงรายได้และชำระภาษีภายในเดือน พฤษภาคม ของปีถัดไป
7. กรณีเงินภาษีที่ต้องเสียจริงไม่เกิน 2,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน ท่านมีสิทธิเลือกไม่ขอหักภาษีล่วงหน้าเป็นรายเดือน โดยไปชำระครั้งเดียวตามจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียจริงขณะยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในปีถัดไป
8. แรงงานต่างชาติที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายสรรพากร จะคำนวณฐานภาษีเงินได้จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือ 24,000 เหรียญไต้หวัน กรณีที่หลบหนีนายจ้างหรือขาดงานต่อเนื่องกัน 3 วัน โดยไม่ได้สามารถติดต่อได้และนายจ้างได้แจ้งความต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เมื่อถูกตรวจพบว่าทำงานอย่างผิดกฎหมายสรรพากรจะคิดคำนวณภาษีเงินได้จากฐานที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ
9. กรณีที่ต้องเดินทางออกจากไต้หวันกลางปี จะต้องยื่นแบบและชำระภาษีของปีนั้นให้เรียบร้อยก่อนการเดินทาง 7 วัน หากท่านมีเงินภาษีส่วนที่จ่ายเกินทางสรรพากรท้องที่จะคืนให้เป็นเช็ค หลังจากยื่นแบบรายการเสียภาษีแล้วภายในประมาณ 4 เดือน และหากต้องการหลักฐานแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการคืนเงินภาษี ท่านสามารถยื่นคำร้องขอรายการดังกล่าวได้ขณะไปรับเช็คคืนเงินภาษีจากสรรพากร
10. เพื่อป้องกันการยักยอกเงินภาษี ขอแนะนำว่าท่านควรมอบอำนาจให้บุคคลที่เชื่อถือได้เป็นผู้ดำเนินการขอรับเงินภาษีในส่วนที่จ่ายเกินคืนจากสรรพากร และขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ