Skip to main content

หน้าหลัก

แนวโน้มและโอกาสของแรงงานไทย

แนวโน้มและโอกาสของแรงงานไทย

ภาวะการขาดแคลนแรงงานในไต้หวัน

ไต้หวันกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากอัตราการเกิดต่ำ และการเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ในปี 2568 เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวันมีแผนลงนาม MOU กับอินเดียภายในสิ้นปี 2566 เพื่อนำเข้าแรงงานอินเดีย อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการลงนาม MOU แต่อย่างใด ในเบื้องต้นการเปิดโควตาแรงงานอินเดียจะดำเนินการอย่างรอบคอบและค่อยเป็นค่อยไป โดยจะมี การรับรองคุณสมบัติของแรงงานเพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางสังคม เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จว่าจะนำเข้าแรงงานอินเดียถึง 1 แสนคน ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบความมั่นคงและเพิ่มอัตราการเกิดอาชญากรรมในไต้หวัน

สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ กรมการท่องเที่ยวไต้หวันพยายามผลักดันให้มีการเปิดรับแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมการโรงแรม อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานไต้หวันยังไม่สนับสนุนแนวทางดังกล่าว โดยมุ่งเน้นให้ภาคโรงแรมพิจารณาจ้างงานชาวไต้หวันในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้หญิงที่ประสงค์จะกลับมาทำงาน อีกครั้งหลังมีบุตรก่อนเป็นอันดับแรก หากไม่ประสบผลสำเร็จก็อาจพิจารณาเปิดรับแรงงานต่างชาติ

(https://thaibiztaiwan.thaiembassy.org/th/content/econupdate2024?page=62cf80bb4ba0761410006e13&menu=63b38f8b13e34f6b6b44b4b2)

สถานการณ์ปัจจุบัน

แรงงานทั่วไป (แรงงานไร้ฝีมือ)

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ไต้หวันปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นสำหรับแรงงานทั่วไปในภาคการผลิต ก่อสร้าง และเกษตร เป็นเดือนละ 27,470 เหรียญไต้หวัน (ไม่รวมแรงงานภาคสวัสดิการสังคม) ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น  และดึงดูดแรงงานให้มาทำงานที่ไต้หวัน ซึ่งไต้หวันยังคงต้องการแรงงานต่างชาติในหลายภาคส่วน 

  1. แรงงานต่างชาติในตำแหน่งผู้อนุบาล : จากภาวะการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไต้หวันส่งผลให้มีความต้องการแรงงานต่างชาติในตำแหน่งผู้อนุบาลจำนวนมาก ซึ่งในสาขาดังกล่าวแรงงานอินโดนีเซียครองตลาดผู้อนุบาลสูงสุด โดยมีจำนวนผู้อนุบาลมากกว่า 160,000 คน ตามด้วยเวียดนาม และฟิลิปปินส์  ส่วนไทยมีจำนวนประมาณ 400 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานเก่าที่นายจ้างให้ความไว้ใจ และมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากตำแหน่งไม่เป็นที่นิยมของแรงงานไทย และเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูง รวมถึงอาศัยร่วมกับเจ้าของบ้าน และไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันภัยแรงงานเหมือนแรงงานในภาคส่วนอื่น แรงงานไทยจึงนิยมทำงานในภาคการผลิตที่มีความเป็นส่วนตัวและมีกิจกรรมทางสังคมสูงกว่า
  2. แรงงานต่างชาติภาคก่อสร้าง : ไต้หวันมีโครงการก่อสร้างที่สำคัญหลายโครงการ และมีความต้องการแรงงานก่อสร้างจำนวนมาก อาทิ โครงการก่อสร้างอาคาร 3 ของท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน โครงการก่อสร้างและขยายรถไฟฟ้า รวมถึงโครงการต่างๆ ภายใต้นโยบายพลังงานสีเขียว เป็นต้น 
  3. แรงงานต่างชาติภาคการผลิต : ในปี 2565 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ผู้ส่งออกไต้หวันเผชิญกับการลดลงของอุปสงค์ทั่วโลกในช่วงครึ่งหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อซึ่งกระตุ้นให้เกิดวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงโดยธนาคารกลางรายใหญ่ทั่วโลกส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ใช้จ่าย นอกจากนี้ การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน ที่ส่งผลให้อุปสงค์ทั่วโลกปั่นป่วน อย่างไรก็ตาม นายจ้างยังคงมีความต้องการแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง 
  4. แรงงานต่างชาติภาคเกษตร : ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ไต้หวันอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติเป็นครั้งแรกเพื่อตอบสนองภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนดังกล่าวเนื่องจากประชากรในชนบทมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ซึ่งแรงงานท้องถิ่นในภาคการเกษตรมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง 

หลังจากไต้หวันประกาศเปิดพรมแดนเมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยปรับการใช้ชีวิตร่วมกับโรคโควิด-19 (หลังจากที่มีการควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวดตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19)  นายจ้างไต้หวันมีความต้องการแรงงานไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติของกระทรวงแรงงานไต้หวัน ปัจจุบัน มีการอนุมัติการยื่นขอจ้างแรงงานไทยมากกว่า 65,000 คน 

แรงงานระดับทักษะฝีมือ

ปัจจุบัน ประชากรวัยทำงานของไต้หวันลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำในขณะที่อัตราประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกลายเป็นแรงกดดันต่อผู้ประกอบการไต้หวันที่มีความต้องการผู้ที่มีทักษะเฉพาะด้าน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีการวางแผน 3 ด้าน คือ 1) การสรรหาผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ 2) การดึงดูดและรักษานักศึกษาต่างชาติที่มีพื้นหลังเป็นเชื้อชาติจีน และ 3) ส่งเสริมการรักษาแรงงานต่างชาติที่ทำงานในไต้หวัน โดยเฉพาะเยาวชนและสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออาชีวศึกษา 

ไต้หวันอนุญาตแรงงานที่มีฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำงานในสาขาต่างๆ โดยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 47,971 เหรียญไต้หวันต่อเดือน ดังนี้

1) ผู้บริหารบริษัท และผู้บริหารฝ่ายผลิต

2) งานด้านเทคนิคหรืองานที่ใช้ทักษะเฉพาะ (วิศวกรหรือนักวิจัยสาขาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ หรือวิศวกรรม รวมทั้งผู้ช่วยด้านดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาและสุขภาพ รวมทั้งผู้ช่วยฯ นักบัญชีและผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการบริหารธุรกิจ สถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์)

3) ครูอาจารย์ในสถานศึกษา หรือในสถาบันกวดวิชาที่ทำงานเต็มเวลา

4) ผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬา

5) เชฟ ทั้งนี้ หากระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีต้องมีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 5 ปี หากระดับปริญญาตรีต้องมีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 2 ปี สำหรับปริญญาโทขึ้นไปไม่ต้องมีใบผ่านงาน

การยกระดับแรงงานกึ่งฝีมือ 

กระทรวงแรงงานไต้หวันมีประกาศ ตั้งแต่ 30 เมษายน 2565 นายจ้างสามารถยื่นขอว่าจ้างแรงงานต่างชาติที่มีอายุการทำงานต่อเนื่องครบ 6 ปีขึ้นไป หรือมีอายุงานสะสมครบตามระยะเวลาที่กฎหมายการจ้างงานกำหนด 12 ปี หรือ 14 ปี ทั้งแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง ลูกเรือประมง เกษตร และแรงงานต่างชาติในภาคสวัสดิการสังคม (ผู้อนุบาลในองค์กรและในครัวเรือน) ที่มีทักษะฝีมือ และนายจ้างยินยอมจ่ายค่าจ้างตามเกณฑ์กำหนด เป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้ โดยไม่ถูกจำกัดระยะเวลาทำงานเหมือนแรงงานต่างชาติทั่วไป   เมื่อทำงานในสถานะแรงงานกึ่งฝีมือต่อเนื่องครบ 5 ปีแล้ว สามารถขอถิ่นที่อยู่ถาวรได้นั้น เงื่อนไขและ
ขั้นตอน การยกระดับแรงงานต่างชาติทั่วไปเป็นแรงงานกึ่งฝีมือแรงงานกึ่งฝีมือ ดังนี้

  1. อายุงาน

1) ต้องทำงานในไต้หวันต่อเนื่องครบ 6 ปีขึ้นไป โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นนายจ้างรายเดียวกัน

2) กรณีที่ไม่ครบ 6 ปี เดินทางกลับประเทศและกลับเข้ามาทำงานที่ไต้หวันต่อ จะต้องทำงานต่อเนื่องจนครบ 6 ปี จึงจะมีสิทธิ์ยื่นขอยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้

3) ทำงานครบ 6 ปีแล้วเดินทางกลับประเทศ และกลับเข้ามาทำงานที่ไต้หวันต่อ จะต้องมีอายุงานสะสมครบ 12 ปี จึงจะมีสิทธิ์ยื่นขอยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้

4) สำหรับแรงงานต่างชาติที่เคยทำงานในไต้หวันครบ 12 ปี และเดินทางกลับประเทศแล้ว นายจ้างเก่ารายใดรายหนึ่งสามารถว่าจ้างและนำเข้าได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นงานประเภทเดิม

  1. ค่าจ้าง

1) ภาคการผลิต นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนประจำ (รวมเบี้ยขยัน เบี้ยเลี้ยง ค่าเข้ากะ เงินรางวัลที่ได้รับเป็นประจำทุกอย่าง ยกเว้นค่าโอที) ไม่ต่ำกว่า 33,000 เหรียญไต้หวัน/เดือน หรือรายได้รวมตลอดทั้งปี (รวมโอทีและเงินโบนัส) ไม่ต่ำกว่า 500,000 เหรียญไต้หวัน

2) ผู้อนุบาล ผู้อนุบาลในครัวเรือน ไม่ต่ำกว่า 24,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน ส่วนผู้อนุบาลในองค์กร ต้องมีเงินเดือนประจำไม่ต่ำกว่า 29,000 เหรียญไต้หวัน/เดือน

  1. ทักษะฝีมือ

แรงงานภาคการผลิต (ข้อใดข้อหนึ่ง)

1) เป็นผู้ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจากสถาบันทดสอบมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ ตรวจสอบวันเวลาทดสอบและสมัครได้ที่ https://www.wdasec.gov.tw/en/)

2) เข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพไม่ต่ำกว่า 80 ชั่วโมง (ตรวจสอบหลักสูตรและเวลาการอบรมจากเว็บไซต์ Taiwan Job ของกรมพัฒนากำลังแรงงาน ได้ที่ https://course.taiwanjobs.gov.tw/)

3) รับรองทักษะฝีมือโดยนายจ้าง ซึ่งต้องแนบหลักฐานหรือคลิปวิดีโอแสดงทักษะฝีมือในการทำงาน

ทั้งนี้ การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน/ฝึกอบรม มีค่าใช้จ่าย

ผู้อนุบาลในครัวเรือนและในองค์กร

ต้องผ่านการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนขั้นพื้นฐานและผ่านการอบรมหลักสูตรเสริมทักษะการทำงานไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง (อบรมฟรีตลอด 24 ชม. จากเว็บกรมพัฒนากำลังแรงงานที่ https://ppt.cc/fAOXEx)

4) แรงงานต่างชาติในภาคการผลิตที่ได้รับค่าจ้างประจำไม่ต่ำกว่า 35,000 เหรียญไต้หวัน/เดือน ผู้อนุบาลในครัวเรือน ได้รับค่าจ้างประจำไม่ต่ำกว่า 26,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน และผู้อนุบาลในองค์กรค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 31,000 เหรียญไต้หวันขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องมีการทดสอบฝีมือหรือแนบใบรับรองทักษะใด ๆ อีก

 4. วิธีการยื่นขอว่าจ้างแรงงานกึ่งฝีมือ

ยังคงเป็นไปตามขั้นตอนการยื่นขอแรงงานต่างชาติทั่วไป คือ นายจ้างจะต้องรับสมัครแรงงานท้องถิ่นในประเทศด้วยอัตราค่าจ้างและเงื่อนไขตามกำหนดก่อน หากไม่มีแรงงานท้องถิ่นมาสมัคร ศูนย์จัดหางานท้องที่จะออกใบรับรองให้เพื่อนำไปประกอบการยื่นขอต่อกระทรวงแรงงานต่อไป นายจ้างต้องเป็นฝ่ายยื่นขอ ทำสัญญาจ้างครั้งละ 3 ปี เช่นเดียวกับแรงงานต่างชาติทั่วไป โดยต้องแจ้งค่าจ้างที่จะจ่ายให้แรงงานกึ่งฝีมือตามความเป็นจริง ระหว่างทำงาน แรงงานกึ่งฝีมือต้องรับการตรวจโรคภายใน 30 วันเมื่อทำงานครบเดือนที่ 6, 18, 30 และตรวจโรคเสริม กรณีที่มีการทำสัญญาจ้างกับนายจ้างใหม่ โดยการทำสัญญาครั้งละ 3 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่ถูกจำกัดระยะเวลา 12 ปี หรือ 14 ปี ตามกฎหมายการจ้างงาน

ทั้งนี้นายจ้างที่ประสงค์จะว่าจ้างแรงงานต่างชาติของตนเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ จะต้องนำหลักฐานเกี่ยวกับทักษะฝีมือและหลักฐานเกี่ยวกับค่าจ้าง พร้อมหลักฐานการประกาศรับสมัครลูกจ้างในประเทศ แบบคำร้อง และหลักฐานไม่มีประวัติฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบทางด้านแรงงานที่ออกโดยกองแรงงานท้องที่ยื่นขอทางออนไลน์ที่ https://fwapply.wda.gov.tw หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 หรือ 02-89956000

กรณีที่แรงงานยังทำงานอยู่ในไต้หวัน นายจ้างสามารถยื่นขอทางออนไลน์ได้  โดยไม่ต้องผ่านสำนักงานแรงงานไทย แต่สำหรับนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานกึ่งฝีมือที่ทำงานครบ 12 ปี หรือ 14 ปี ที่เดินทางกลับไทยแล้ว ต้องยื่นเอกสารขอรับรองสัญญาจ้างต่อสำนักงานแรงงาน เช่นเดียวกับการรับรองสัญญาจ้างแรงงานไร้ฝีมือทั่วไป

นโยบายและโควต้าการจ้างแรงงานต่างชาติ

ไต้หวันประสบภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันอนุญาตให้นายจ้างนำเข้าแรงงานต่างชาติได้ โดยมีกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวัน (Workforce Development Agency, Ministry of Labor) เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลนโยบายและการบริหารแรงงานต่างชาติ (เว็บไซต์ https://www.wda.gov.tw/en/)

ไต้หวันจะเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้เฉพาะกิจการที่ขาดแคลนแรงงาน โดยคุณสมบัติของนายจ้างและเงื่อนไขขั้นตอนการนำเข้าต้องเป็นกิจการที่ขาดแคลนแรงงานจริง โดยเฉพาะกิจการที่เป็นงานหนัก งานสกปรก และงานอันตราย กระทรวงแรงงานเป็นผู้กำหนดโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติของแต่ละกิจการตามความรุนแรงของสภาพการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงภาคการก่อสร้าง ผู้อนุบาลที่ดูแลคนป่วยและคนสูงอายุในครัวเรือนและในสถานพักฟื้น

ในส่วนภาคการเกษตร รัฐบาลไต้หวันทดลองเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 โดยเริ่มจากฟาร์มโคนม และการจ้างเหมาบริการภาคการเกษตร ประเภทละ 400 คน ต่อมาในปี 2563 ได้ขยายการนำเข้าแรงงานต่างชาติในภาคการเกษตรในสาขาต่างๆ อาทิ ฟาร์มสุกร แพะ เป็ด ไก่ ฟาร์มกล้วยไม้ เพาะเลี้ยงเห็ด สวนผัก เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น

สำหรับโควตาการนำเข้าแรงงานต่างชาติ จะกำหนดโควตาของแต่ละประเภทกิจการ เช่น ภาคการผลิต อุตสาหกรรมประเภท 3K หรือ งานหนัก งานสกปรกและงานอันตราย จะได้รับการจัดสรรโควตาการนำเข้าแรงงานต่างชาติตามประเภทกิจการ โดยแบ่งตามอัตราส่วน 5 ระดับ ได้แก่ ร้อยละ 10 ร้อยละ 15 ร้อยละ 20 ร้อยละ 25 และร้อยละ 35 ของยอดจำนวนแรงงานท้องถิ่นที่ว่าจ้าง หากเป็นกิจการที่เป็นงานหนัก งานสกปรก และงานอันตรายมากยิ่งขึ้น จะได้รับโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติมากขึ้น ทั้งนี้ นายจ้างที่ได้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างชาติ จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อความมั่นคงในการทำงานของแรงงานท้องถิ่น จำนวน 2,000 เหรียญไต้หวัน/คน/เดือน

อย่างไรก็ตาม กรณีสัดส่วนการนำเข้าแรงงานต่างชาติดังกล่าว ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการ กระทรวงแรงงานจึงประกาศมาตรการให้นายจ้างที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับข้อกำหนด สามารถขอโควตาพิเศษเพิ่มเติมได้จากโควตาเดิมที่ได้รับอยู่แล้ว แต่เมื่อรวมกับโควตาเดิมแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 40 โดยนายจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มตามร้อยละโควต้าพิเศษที่ได้รับเพิ่ม ดังนี้ 

โควตาพิเศษเพิ่มจากโควตาเดิม เงินเข้ากองทุนฯ ที่นายจ้างต้องจ่าย (เหรียญ/คน/เดือน)
5% 5,000 
10% 7,000 
15% 9,000

1191
TOP