แรงงานต่างชาติทุกคนที่ทำงานในสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมจะถูกบังคับโดยกฎหมายประกันภัยแรงงานให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงาน (ที่เรียกว่า“ เหลาเป่า”) ส่วนแรงงานต่างชาติที่ทำงานบ้านและงานผู้อนุบาลส่วนบุคคลกฎหมายไม่บังคับให้เป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงาน แต่แรงงานต่างชาติสามารถขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงาน โดยความยินยอมพร้อมใจของนายจ้างได้ แรงงานที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงานมีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ดังนี้
1. กรณีบาดเจ็บในงานจะได้รับเงินเดือนเต็มเดือนจากนายจ้างระหว่างการหยุดงานเพื่อการบำบัดรักษา นายจ้างจ่ายร้อยละ 30 ประกันภัยแรงงานจ่ายร้อยละ 70 ทั้งนี้ นายจ้างต้องออกหนังสือรับรองว่าบาดเจ็บในงานเพื่อนำไปยื่นต่อกองทุนประกันภัยแรงงาน และหากภายหลังจากการได้รับการบำบัดรักษาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้วยังไม่หายและแพทย์ให้การรับรองว่าคนงานนั้นไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป นายจ้างอาจจ่ายเงินทดแทนค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยจำนวน 40 เดือนแล้วไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนค่าจ้างอีกต่อไป ทั้งนี้ นายจ้างมีสิทธินำเงินทดแทนค่าจ้างที่กองทุนประกันภัยแรงงานจ่ายให้กับคนงานมาหักออกจากจำนวนเงินทดแทนค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายตามที่กำหนดไว้ข้างต้นได้ (กองทุนประกันภัยแรงงานจะจ่ายเงินทดแทนค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 4 ของการหยุดงานเพื่อบำบัดรักษาในอัตราร้อยละ 70 ของอัตราค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน หากครบ 6 เดือนแล้วยังไม่หาย อัตราเงินทดแทนจะลดลงเหลืออัตราร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างเฉลี่ยและจ่ายให้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี)
2. เงินทดแทนการทุพพลภาพเนื่องจากการทำงาน มีสิทธิได้รับในอัตราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ของประเภทและอัตราที่สำนักงานประกันภัยแรงงานกลางกำหนด โดยจ่ายให้เป็นครั้งเดียว
3. เงินทดแทนการเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน ทายาทมีสิทธิได้รับค่าช่วยเหลือจัดการศพเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยจำนวน 5 เดือน และเงินทดแทนการเสียชีวิตเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยจำนวน 40 เดือน
1. กรณีต้องหยุดงานเพื่อรับการบำบัดรักษาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง มีสิทธิขอรับเงินทดแทนค่าจ้างตั้งแต่วันที่สี่ของการหยุดงานดังกล่าว ในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน หากเป็นสมาชิกกองทุนฯ มาครบหนึ่งปีขึ้นไปจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าจ้างในอัตราดังกล่าวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี
2. กรณีผลการรักษาสิ้นสุดและแพทย์ผู้รักษาได้วินิจฉัยและรับรองว่ามีการทุพพลภาพของอวัยวะ มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการทุพพลภาพ โดยจ่ายให้เป็นครั้งเดียวตามประเภทและอัตราที่สำนักงานประกันภัยแรงงานกลางกำหนด
3. กรณีเสียชีวิต ทายาทมีสิทธิได้รับค่าช่วยเหลือจัดการศพเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยจำนวน 5 เดือนและมีสิทธิรับเงินทดแทนการเสียชีวิต ในอัตราตามระยะเวลาของการเป็นสมาชิกกองทุนฯ คือ
(1) เป็นสมาชิกไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิรับเงินทดแทนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยจำนวน 10 เดือน
(2) เป็นสมาชิกครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบ 2 ปี มีสิทธิรับเงินทดแทนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยจำนวน 20 เดือน
(3) เป็นสมาชิกครบ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิรับเงินทดแทนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยจำนวน 30 เดือน
สำนักงานแรงงานไทยขอแนะนำเพื่อนแรงงานไทยทุกคนว่า เมื่อเกิดการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานไทยทราบ เพื่อการช่วยเหลือดูแลให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม และได้รับสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะ เจ็บป่วยในงานและมิได้ทุพพลภาพจนถึงขนาดทำงานไม่ได้โดยสิ้นเชิง อย่ารีบร้อนตัดสินใจยกเลิกสัญญาจ้าง และเดินทางกลับประเทศไทย ขอให้ปรึกษาสำนักงานแรงงานไทยก่อน เพราะท่านอาจเสียสิทธิในการรักษาพยาบาล และการรับเงินทดแทนจากกองทุนประกันภัยแรงงาน รวมถึงสิทธิภายใต้กฎหมายแรงงานไต้หวัน
สภานิติบัญญัติไต้หวันผ่านกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบการจ่ายเงินกองทุนประกันภัยแรงงาน ฉบับใหม่ เปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 ดังนี้
1. เงินค่าทำศพ คุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องและมาตรฐานในการจ่าย
1.1 ผู้เอาประกันเสียชีวิตในระหว่างสมาชิกภาพยังมีผล ไม่ว่าจากการทำงานหรือนอกเวลาทำงาน หรือป่วยเป็นโรค ให้ผู้จัดการศพยื่นขอรับเงินค่าทำศพจากกองทุนฯได้ในจำนวน 5 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่แจ้งเอาประกันโดยเฉลี่ย 6 เดือนก่อนเสียชีวิต (กรณีของแรงงานไทย นายจ้างส่วนใหญ่แจ้งเอาประกันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 17,880 เหรียญไต้หวัน ดังนั้นจะได้รับเงินค่าทำศพ เป็นเงิน 89,400 เหรียญไต้หวัน)
1.2 กรณีทายาทขาดคุณสมบัติ หรือไม่มีทายาทรับประโยชน์เงินทดแทนที่จ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว หรือเงินทดแทนที่ทยอยจ่ายรายเดือน ให้ผู้จัดการศพยื่นขอรับเงินค่าทำศพจากกองทุนฯได้ในจำนวน 10 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่แจ้งเอาประกันโดยเฉลี่ย 6 เดือนก่อนเสียชีวิต
2. เงินทดแทนที่จ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว
2.1 คุณสมบัติของผู้รับประโยชน์ ผู้เอาประกันเข้ากองทุนฯครั้งแรกก่อนวันที่ 1 มกราคม 2552 และเสียชีวิตในระหว่างสมาชิกภาพยังมีผลทายาทของผู้เอาประกัน ได้แก่ คู่สมรส/บุตร บิดา/มารดา ปู่ย่า หรือหลาน และพี่/น้อง ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้เอาประกัน
2.2 มาตรฐานการจ่ายเงิน
2.2.1 กรณีเสียชีวิตนอกการทำงาน กองทุนฯจะจ่ายเงินทดแทนเป็นก้อนครั้งเดียวตามอายุการเข้ากองทุนฯ ดังนี้
– ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับเงินทดแทน 10 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน
– 1 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 2 ปี จะได้รับเงินทดแทน 20 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน
– 2 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทน 30 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน
2.2.2 กรณีเสียชีวิตจากการทำงาน ทายาทจะได้รับเงินทดแทน 40 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน
3. เงินทดแทนรายเดือน
3.1 คุณสมบัติของผู้รับประโยชน์ ผู้เอาประกันเข้ากองทุนฯครั้งแรก หลังวันที่ 1 มกราคม 2552 และเสียชีวิตในระหว่างสมาชิกภาพยังมีผลทายาทของผู้เอาประกัน ได้แก่ คู่สมรส/บุตร บิดา/มารดา ปู่ย่า หรือหลาน และพี่/น้อง ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้เอาประกัน
3.2 เงื่อนไขการยื่นขอ
3.2.1 คู่สมรส ต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
– อายุครบ 55 ปี สมรสกับผู้เอาประกันครบ 1 ปีขึ้นไป เว้นแต่จะเป็นผู้ไร้ความ สามารถหาเลี้ยงชีพ (ต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการในระดับรุนแรง) หรือมีบุตรอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องเลี้ยงดู
– อายุครบ 45 ปี สมรสกับผู้เอาประกันครบ 1 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึงวงเงินแจ้งเอาประกันระดับที่ 1 (24,000 เหรียญไต้หวัน)
– กรณีที่คู่สมรสอายุไม่ถึง 45 ปี ยังไม่สามารถยื่นขอรับเงินทดแทนรายเดือนได้ จนกว่าจะมีอายุและเงื่อนไขตามกำหนด
3.2.2 บุตร (กรณีเป็นบุตรบุญธรรม ต้องมีเอกสารรับรองการรับเป็นบุตรบุญธรรมเกิน 6 เดือนขึ้นไป) และจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
– ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
– ไร้ความสามารถในการหาเลี้ยงชีพ
– อายุไม่เกิน 25 ปี อยู่ระหว่างศึกษา และมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึงวงเงินแจ้งเอาประกันระดับที่ 1 (24,000 เหรียญไต้หวัน)
3.2.3 บิดา/มารดา และปู่/ย่า อายุครบ 55 ปี และมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึงวงเงินแจ้งเอาประกัน ระดับที่ 1 (24,000 เหรียญไต้หวัน)
3.2.4 หลานซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้เอาประกัน และมีคุณสมบัติตรงตามข้อ 3.2.2
3.2.5 พี่/น้อง ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้เอาประกัน และจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
– ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
– ไร้ความสามารถในการหาเลี้ยงชีพ
– อายุครบ 55 ปี และมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึงวงเงินแจ้งเอาประกันระดับที่ 1 (24,000 เหรียญไต้หวัน)
3.3 มาตรฐานการจ่ายเงินทดแทนรายเดือน
3.3.1 ผู้เอาประกันเสียชีวิตในระหว่างที่สมาชิกภาพยังมีผล กองทุนฯจะจ่ายเงินทดแทน รายเดือน โดยคำนวณจากร้อยละ 1.55 ของวงเงินที่เอาประกันเฉลี่ย 1 ปี และอายุการเข้ากองทุนฯ
3.3.2 เงินทดแทนรายเดือนตามข้อ 3.3.1 หากไม่ถึง 3,000 เหรียญไต้หวัน จะจ่ายให้ 3,000 เหรียญไต้หวัน
3.3.3 กรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตจากการทำงาน นอกจากเงินทดแทนรายเดือนแล้ว จะได้รับเงินทดแทนเพิ่มอีก 10 เท่าของค่าจ้างที่เอาประกัน โดยจะจ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว
3.3.4 ทายาทในลำดับเดียวกัน หากมีมากกว่า 1 คน จะได้รับเงินทดแทนรายเดือนเพิ่มขึ้นคนละร้อยละ 25 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 50
3.3.5 กองทุนฯจะโอนเงินทดแทนรายเดือนเข้าบัญชีของทายาทไปจนตลอดชีพ (ยกเว้นกรณีที่ทายาทผู้รับประโยชน์เป็นคู่สมรสไปสมรสใหม่) สำหรับค่าธรรมเนียมในการโอนเงินจะหักจากเงินทดแทนรายเดือน เป็นเงินครั้งละ 250 เหรียญไต้หวัน โดยประมาณ
3.4 เอกสารที่ต้องใช้ (อายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต)
3.4.1 หนังสือมอบอำนาจ ให้นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการเผาหรือส่งศพกลับประเทศไทย และยื่นเรื่องขอรับเงินทดแทนจากกองทุนประกันภัยแรงงาน ตลอดจนเจรจาเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณี (หากคู่กรณีเป็นนายจ้าง ให้มอบอำนาจให้สำนักงานแรงงาน ไทเป หรือเกาสง เป็นผู้เจรจา)
3.4.2 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทายาท
3.4.3 เอกสารแสดงความสัมพันธ์กับผู้ตาย ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเต็มที่จำหน่ายชื่อผู้ตายแล้ว
3.4.4 สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้บุตรของผู้ตายเป็นผู้ทำหนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่บุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องให้ผู้ปกครองลงนามร่วมในฐานะผู้ดูแล)
3.4.5 หลักฐานการขาดความสามารถในการเลี้ยงชีพของทายาท
3.4.6 หลักฐานแสดงการอุปการะเลี้ยงดู (กรณีที่ทายาทเป็นพี่/น้อง/หลาน)
เอกสารทั้งหมดให้จัดทำ 3 ชุด และให้แปลเป็นภาษาอังกฤษและผ่านการรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทยมาด้วย
3.5 ทายาทจะต้องจัดเตรียมเอกสารตามข้อ 3.4 และยื่นต่อกองทุนฯเป็นประจำทุกปีก่อนครบกำหนดการจ่ายเงินล่วงหน้า 2 เดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันสถานภาพของทายาท
แรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงานไต้หวัน (เหลาเป่า) มีสิทธิยื่นขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนดังกล่าว ในกรณีญาติสายเลือดตรงเสียชีวิตขณะที่แรงงานไทยเป็นสมาชิกของกองทุนประกันภัยแรงงานไต้หวัน ซึ่งญาติสายเลือดตรง ได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร โดยเงินสงเคราะห์ที่กองทุนดังกล่าวจะจ่ายให้มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. กรณีบิดา มารดา หรือคู่สมรสเสียชีวิต มีสิทธิขอรับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างที่แจ้งเอาประกันจำนวน 3 เดือน
2. กรณีบุตรที่มีอายุครบ 12 ปีขึ้นไปเสียชีวิต มีสิทธิขอรับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างที่แจ้งเอาประกัน 2.5 เดือน
3. กรณีบุตรที่มีอายุไม่ถึง 12 ปีเสียชีวิต มีสิทธิขอรับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างที่แจ้งเอาประกัน 1.5 เดือน
1. ใบมรณบัตร และหนังสือแสดงความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้เสียชีวิต เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน โดยเอกสารดังกล่าวต้องแปลและผ่านการรับรองของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของไทย และสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย
2. สำเนาหนังสือเดินทางและสำเนาใบถิ่นที่อยู่ของผู้ยื่นคำร้อง และต้องผ่านการรับรองเป็นสำเนาถูกต้องจากบริษัทนายจ้าง
3. แบบคำร้องขอรับเงินสงเคราะห์ ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวและประทับตราชื่อในช่องข้อมูลของผู้เอาประกัน (หมายถึงแรงงานต่างชาติผู้ขอ)