Skip to main content

หน้าหลัก

สิทธิประโยชน์ที่ควรทราบ

ค่าจ้าง

          กรณีที่กิจการของนายจ้างอยู่ในข่ายการบังคับใช้ของกฎหมายมาตรฐานแรงงาน ค่าจ้างจะต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด คือ เดือนละ 24,00 เหรียญไต้หวัน ทั้งนี้ผู้อนุบาลของไทยแม้จะไม่อยู่ในข่ายบังคับใช้ของกฎหมายมาตรฐานแรงงานเหมือนกับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม แต่ทางฝ่ายไทยได้มีข้อตกลงกับฝ่ายไต้หวันให้ผู้อนุบาลได้รับเงินค่าจ้างขั้นต่ำตามสัญญาจ้างในอัตราเดียวกับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมด้วย

 

เวลาทำงาน

          ตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง  ชั่วโมงการทำงานในวันปกติวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์  (โดยใน 1 สัปดาห์ กำหนดให้เป็นวันทำงาน 5 วัน มีวันหยุดบังคับ 1 วัน)  เมื่อมีการขยายเวลาทำงานหรือทำงานล่วงเวลา ให้คำนวณจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาตามกฎหมาย

          โดย 2 ชั่วโมงแรก นายจ้างจ่ายให้ชั่วโมงละ 133 เหรียญไต้หวัน  ชั่วโมงที่ 3 เป็นต้นไป นายจ้างต้องจ่ายชั่วโมงละ 167 เหรียญไต้หวัน (คำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน 24,000 เหรียญไต้หวัน) 

          สำหรับงานล่วงเวลาในวันหยุดประจำสัปดาห์/นักขัตฤกษ์ตามกฎหมายกำหนด คิดเป็น 2 เท่าของค่าแรงตามปกติ คือชั่วโมงละ 200 เหรียญไต้หวัน แต่ค่าแรงตามปกติได้รับอยู่แล้ววันละ 800 เหรียญไต้หวัน หรือชั่วโมงละ 100 เหรียญไต้หวัน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายเพิ่มสำหรับการทำโอทีในกรณีนี้ให้อีกชั่วโมงละ 133 เหรียญไต้หวัน

 

วันหยุดพักและการลางาน

          กิจการที่อยู่นอกเหนือการบังคับใช้ของกฎหมายมาตรฐานแรงงานให้ถือปฏิบัติตามสัญญาจ้าง สำหรับกิจการที่อยู่ในขอบข่ายการบังคับใช้ของกฎหมายแรงงาน  โดยใน 1 สัปดาห์ กำหนดให้เป็นวันทำงาน 5 วัน มีวันหยุดบังคับ 1 วัน และมีวันหยุดที่ยืดหยุ่น สามารถหยุดหรือทำโอทีได้ 1 วัน ทั้งนี้มีวันหยุดประจำปีทั้งหมด 12 วัน และมีการกำหนดวันลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างดังนี้

          หยุดได้  3 วัน   หากทำงานครบครึ่งปี 
          หยุดได้  7  วัน  หากทำงานครบ   1 ปี 
          หยุดได้  10 วัน  หากทำงานครบ  2 ปี
          หยุดได้  14 วัน  หากทำงานครบ  3 ปี
          หยุดได้  15 วัน  หากทำงานครบ  5 ปี
          และหยุดเพิ่มขึ้นได้อีกปีละ 1 วัน ตามจำนวนปีที่เพิ่มขึ้นหลังปีที่ 5 แต่ไม่เกิน 30 วันต่อปี

          ทั้งนี้การนับเวลาทำงานให้นับเวลาจากนายจ้างรายเดิมที่ทำงานต่อเนื่องเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 สำหรับท่านที่ได้รับบาดเจ็บหรือป่วยเนื่องจากการทำงานในระหว่างที่รับการรักษาถือว่าลาป่วยเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่จะได้รับค่าจ้างตามปกติ หากเป็นการลาป่วยนอกงาน (มีใบแพทย์) จะต้องได้รับครึ่งหนึ่งของค่าจ้างปกติ

ปรับปรุงข้อมูล 19 มกราคม 2564

TOP