ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไต้หวัน – ไทย
1. ด้านการค้า กรมการค้าต่างประเทศไต้หวัน รายงานว่า ในปี 2567 การค้าระหว่างไต้หวัน – ไทยมีมูลค่ารวม 18,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไต้หวันมาไทย 11,836 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าจากไทยไปไต้หวัน 6,228 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[4] โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 12 ของไต้หวัน สินค้านำเข้าจากไทยไปไต้หวัน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (3,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู และยาสูบ (430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ (3) พลาสติกและยาง (351 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่สินค้าส่งออกจากไต้หวันมาไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (8,849 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) แร่โลหะ (1,004 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ (3) พลาสติกและยาง (521 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ
2. ด้านการลงทุน กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันรายงานว่า ในปี 2567 มีโครงการลงทุนจากไต้หวันในไทยที่ได้รับการอนุมัติ 66 โครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 26.6) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) การค้าส่งและค้าปลีก (111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ (3) การเงินและการประกันภัย (61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่มีโครงการลงทุนจากไทยไปยังไต้หวัน 30 โครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.45) คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 6.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 94.32) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) ด้านบริการทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และทางเทคนิค (5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) การเงินและการประกันภัย (4.6 แสนดอลลาร์สหรัฐ) และ (3) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (4.59 แสนดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ
3. ด้านแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวันรายงานว่า ในเดือน ธ.ค. 2567 มีจำนวนแรงงานไทยในไต้หวันทั้งสิ้น 70,335 คน คิดเป็นร้อยละ 8.57 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในไต้หวัน โดยจำนวนแรงงานไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 7.52
4. ด้านการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไทยรายงานว่า ในปี 2567 นักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางมาไทยจำนวน 1,089,910 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 50.42 (ปี 2566 จำนวน 724,594 คน) ขณะที่กรมการท่องเที่ยวไต้หวัน ระบุว่า ในเดือน ม.ค. – ธ.ค. 2567 มีนักท่องเที่ยวจากไทยไปไต้หวัน จำนวน 397,168 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 1.43 (เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2566 จำนวน 391,573 คน)
โอกาสของไทยในไต้หวัน
1เซมิคอนดักเตอร์
ไต้หวันเป็น “สมรภูมิยุทธศาสตร์” การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ไทยจึงควรใช้โอกาสที่นักลงทุนไต้หวันถูกกดดันให้ขยายการลงทุนออกจากจีนในการดึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีมาไทย ทั้งนี้ ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัท PCB ของไต้หวันกำลังขยายฐานการผลิตจากจีนออกมายังไทยทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดย PCB เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกื้อกูลการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากใช้ supply chain ที่คล้ายคลึงกัน เช่น สารเคมีบางตัว และเครื่องจักร การนำ supply chain ของ PCB ไปลงทุนในไทยได้ จึงถือเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นที่ดีสำหรับไทย
แม้ว่าการพิจารณาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในต่างประเทศของบริษัทขนาดใหญ่ในไต้หวันจะคำนึงถึง 2 ปัจจัยสำคัญเป็นหลัก ได้แก่ (1) ปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้นักลงทุนในประเทศที่เป็น Tech Alliance และ (2) งบประมาณสนับสนุน จากรัฐบาลผู้รับ แต่ไทยไม่ควรมองข้ามการจับฉวยโอกาสการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวันในไทย โดยมุ่งเน้นบริษัท SMEs ในห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยต้องเริ่มจากการสร้าง success story ให้เกิดขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาบุคลากรผ่านการส่งเสริมความร่วมมือกับไต้หวันในระดับต่างๆ เพื่อพัฒนา ecosystem ของไทยให้เข้มแข็ง
2 แรงงาน
ไต้หวันเป็นตลาดแรงงานถูกกฎหมายที่สำคัญที่สุดของไทย มีแรงงานไทยในไต้หวันไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นคน และมีแนวโน้มที่แรงงานไทยจะมาไต้หวันอย่างต่อเนื่องในสาขาก่อสร้างและภาคการผลิต โดยควรมีการหารือกับบริษัทไต้หวันที่ลงทุนในไทยให้มีการจ้างงานแรงงานไทยที่มีประสบการณ์เหล่านี้ให้ทำงานต่อในบริษัทที่ไทยได้ ตลอดจนความพยายามในการผลักดันให้ไต้หวันเปิดเสรีด้านแรงงานในภาคบริการให้กับไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยในการเข้าไปทำงานในภาคบริการที่ไต้หวันแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการบริการของไต้หวัน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันไม่มีศักยภาพในการแข่งขันมากพอเนื่องจากเสียเปรียบจากการขาดแคลนด้านบุคลากร ทั้งนี้ สำนักงานการค้าฯ กำลังผลักดันการเปิดตลาดแรงงานในภาคบริการให้แก่แรงงานไทยที่ไต้หวัน
3 การท่องเที่ยว
คนไต้หวันมีทัศนคติที่ดีต่อไทยและนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะต้องมีการขอวีซ่าเดินทางเข้าประเทศไทยมาโดยตลอด ดังนั้น จำนวนคนไต้หวันที่ไปไทยจึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการเปิดวีซ่าฟรีเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนัยข้อ 3.4 โดยเฉพาะจากปัจจัยบวกเมื่อ ประเทศไทยได้ประกาศให้นักท่องเที่ยวไต้หวันอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ผ. 60 ด้วยแล้ว จากสถิติของรัฐบาลไทยพบว่า นักท่องเที่ยวไต้หวันที่เดินทางมาไทยระหว่างเดือน ม.ค. – ก.ค. 2567 มีจำนวนมากถึง 610,270 คน และอาจมากถึง 1 ล้านคนในปี 2567 กอปรกับพิจารณาว่า นักท่องเที่ยวไต้หวันเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีการใช้จ่ายในประเทศไทยสูงถึงประมาณ 5,200บาท/วัน/คน
4 การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
รัฐบาลไต้หวันต้องการส่งเสริมให้นักศึกษาจากต่างชาติ โดยเฉพาะในอาเซียนเข้ามาศึกษาต่อและทำงานในไต้หวันมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไต้หวัน โดยมีการให้ทุนการศึกษาประมาณ 1 หมื่นทุนต่อปี และตั้งเป้าให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียนที่ไต้หวันให้ได้ 320,000 คนภายในปี 2573 นอกจากนั้น รัฐบาลไต้หวันยังรวมไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเป้าหมายในการให้ทุนการศึกษา “International Industrial Talents Education Special Program (INTENSE Program)” เช่นเดียวกับเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ส่งเสริมและเชื่อมโยงให้นักศึกษาไทยได้เข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากโอกาสด้านการศึกษาในไต้หวันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ประเทศไทย และจำเป็นต้องมีปัจจัยบุคลากรที่พร้อมด้วย [1] การลงทุนจากไต้หวันไปยังจีน ระหว่างเดือน ม.ค. – มิ.ย. 2567 มีมูลค่ารวม 1,546.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
https://thaibiztaiwan.thaiembassy.org/th/content/econupdate2024half?page=62cf80bb4ba0761410006e13&menu=63b38f8b13e34f6b6b44b4b